วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

ประเพณีไทย

ประเพณีปล่อยโคม ลำพูน
ลักษณะความเชื่อ
ชาวบ้านทั่วไปเชื่อว่าการปล่อยโคมลอยเป็นการปล่อยเคราะห์กรรมสิ่งที่ไม่ดีงามให้ลอยออกไปจากชีวิต และปล่อยให้ลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์

พิธีกรรม
๑. การทำโคมลอย
โคมลอยทำด้วยกระดาษว่าว มีลักษณะสี่เหลี่ยมเรียกว่า "แบบกล่องข้าว" ลักษณะกลมเรียกว่า"ฮ้งมดส้ม" (รังมดแดง) ขนาดเล็กใช้กระดาษ ๓๖ แผ่น ขนาดกลาง ๗๒ แผ่น ขนาดใหญ่เกินกว่า ๗๒ แผ่นขึ้นไปและประกอบด้วยหางไม่น้อยกว่า ๖ ชิ้น ยาวขนาด ๕-๑๐ เมตร


๒. การปล่อยโคมลอย
ก่อนจะปล่อยโคมลอย รมด้วยควันไฟให้พองก่อนแล้วจึงปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า เมื่อขึ้นจากพื้นสูงพอสมควรแล้วจึงปล่อยหางซึ่งขมวดอยู่ให้คลี่ยาวออกมา พร้อมกับกระดาษรุ้งสีต่างๆ และกระดาษเงิน ทองลอยออกมาจากโคม ของใครขึ้นได้สูงและสวย และมีลูกเล่นแพรวพราวจะได้รับความนิยมชมชอบ ถ้าเป็นการประกวดถือว่าชนะที่หนึ่ง

ความสำคัญ
เมื่อถึงเทศกาล "ยี่เป็ง" ชาวบ้านที่นับถือพระพุทธศาสนาจะทำโคมลอยไปถวายวัดเพื่อเป็นพุทธบูชาหรือบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ วันอื่น เดือนอื่นไม่นิยมทำกัน
สาระ
การปล่อยโคมลอยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในประเพณียี่เป็งของชาวลำพูน เป็นที่รวมแห่งศรัทธาสามัคคีของชาวบ้านกับชาววัด นอกจากนี้การทำโคมลอยยังถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง หากทำไม่ถูกสัดส่วนจะปล่อยไม่ขึ้น

ประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์ – สมุทธปราการ
ช่วงเวลา ช่วงสงกรานต์ วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน
ความสำคัญ
การส่งข้าวสงกรานต์เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวรามัญที่พระประแดง ซึ่งคงจะได้รับอิทธิพลมาจากตำนานสงกรานต์ ตอนท่านเศรษฐีนำเครื่องสังเวยไปบวงสรวงเทวดาที่ต้นไทร เพื่อขอบุตรเพราะข้าวที่ใส่หม้อดิน กับข้าวต่างๆก็ใส่กระทงซึ่งทำด้วยใบตองไม่ใส่ถ้วย คล้ายกับการเซ่นจ้าวหรือบูชาเทวดา ชาวพระประแดงจะส่งข้าวสงกรานต์เฉพาะในวันที่ ๑๓,๑๔ และ ๑๕ เมษายน


พิธีกรรม
ในแต่ละหมู่บ้านจะมีบ้านใดบ้านหนึ่งเป็นผู้รับหน้าที่หุงข้าวสงกรานต์ ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นถ้าบ้านที่หุงเป็นบ้านที่มีฐานะดีก็จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ถ้าไม่สามารถออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ก็จะออกบอกบุญแต่ละบ้านในหมู่บ้านของตนเพื่อนำไปซื้ออาหารสด เมื่อถึงวันสงกรานต์บ้านที่รับหน้าที่หุงข้าวสงกรานต์จะปลูกศาลเพียงตาขึ้นโดยใช้เสา ๔ ต้น และมีชั้นสำหรับวางเครื่องสังเวยระดับสายตาที่หน้าบ้านของตน ศาลนี้เรียกเป็นภาษารามัญว่า "ฮอยสงกรานต์" ซึ่งแปลว่า บ้านสงกรานต์ การหุงข้าวสงกรานต์ในสมัยโบราณนั้นต้องนำข้าวมาซ้อมให้ขาว โดยซ้อม ๗ ครั้ง เก็บกากข้าวและสิ่งอื่นที่สกปรกออกให้หมด และนำไปซาวน้ำ ๗ ครั้งแล้วนำไปหุงเป็นข้าวสวยแต่หุงให้แข็งกว่าปกติเล็กน้อย แล้วนำมาใส่น้ำเย็นเพื่อไม่ให้เม็ดข้าวเกาะตัวกัน หลังจาก
นั้นก็ต้มน้ำอีกหม้อหนึ่งให้เดือดแล้วปล่อยให้เย็นลงเพื่อทำน้ำดอกมะลิ เมื่อน้ำเย็นลงแล้วก็นำดอกมะลิมาลอย แล้วนำดอกมะลิมาใส่ข้าวที่หุงเตรียมไว้นั้น แล้วนำไปใส่ในหม้อดินใบเล็กๆ ส่วนกับข้าวนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปลาแห้ง เนื้อเค็ม ผักกาดเค็มหรือยำชนิดต่างๆ เป็นต้น และมีของหวาน ได้แก่ ถั่วดำต้มน้ำตาลและผลไม้ ที่นิยมกันได้แก่ กล้วยหักมุก แตงโม เมื่อเตรียมอาหารพร้อมแล้วก็ใส่กระทงจัดใส่ถาดเตรียมไว้เท่ากับจำนวนวัดที่มีอยู่ในเขตตลาดพระประแดง การหุงข้าวสงกรานต์นั้นต้องหุงแต่เช้ามืดประมาณ ๐๓.๐๐-๐๔.๐๐ น. เพราะประมาณ ๐๕.๐๐ น. สาวๆในหมู่บ้านนั้นก็จะออกมารับข้าวสงกรานต์ เพื่อไปส่งตามวัดต่างๆตามที่ตนได้ตั้งใจไว้และจะไปกันเป็นกลุ่มๆส่วนมากจะไม่ไปวัดที่ใกล้บ้านของตน
มักจะไปส่งที่วัดไกลๆเพื่อจะได้มีโอกาสพบหนุ่มต่างตำบลด้วย เพราะสมัยโบราณนั้นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้พบกันนั้นยากมาก นอกจากงานเทศกาลต่างๆเหล่านี้ และเมื่อส่งข้าวสงกรานต์เรียบร้อยแล้วตอนกลับจะมีหนุ่ม ๆ มาคอยดักรดน้ำ จึงเป็นโอกาสหนึ่งที่หนุ่มสาวได้มีโอกาสพูดคุยกันอย่างอิสระ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น